top of page

​         นับจากสถาปนาวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระอารามแห่งนี้ได้รับการบำรุงดูแลโดยพระภิกษูผู้มีสมณศักดิ์สืบมาเป็นเวลายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี และมีความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ดังปรากฎในกาลปัจจุบัน พระสมณสงฆ์รูปสำคัญซึ่งสมควรกล่าวถึงนั้นได้แก่

​         เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสรูปแรกเป็นพระเถระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า เป็นพระภิกษุผู้กอปรด้วยจริยวัตรน่าเลื่อมใส อุตสาหะเล่าเรียนพระธรรมวินัย มีความรู้กว้างขวาง มีความนิยมในธรรมานุปฏิบัติ ทั้งเป็นผู้ทราบระเบียบกิจวัตรขนบธรรมเนียมเป็นอันดี

             นับตั้งแต่ปกครองพระอารามแห่งนี้ ท่านมีความตั้งใจทำนุบำรุงให้มีความเจริญขึ้นตามสมควร ทั้งในส่วนบริหารแลการปริยัติพยายามจัดให้มีการศึกษาภาษาบาลีสืบมาจนมีพระสงฆ์สอบได้เป็นเปรียญทันยุคที่ท่านยังปกครองอยู่

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอุปัชฌาย์ซึ่งได้บวชกุลบุตรขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก และได้เทศนาสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาให้ตั้งอยู่ในเบญจศีลเบญจธรรมสัมมาปฎิบัติ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งมหามงกุฎราชวิทยาลัย ท่านเป็นกรมการชุดแรก และเป็นผู้สอบไล่พระปริยัติธรรม รวมทั้งเป็นกำลังในการจัดตั้งโรงเรียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นสาขาของมหามงกุฎราชวิทยาลัย ขึ้นที่วัดทพศิรินทราวาส เมื่อท่านมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาลัยเสียดาย เป็นอันมาก พระราชทานโกศเหลี่ยมราชนิกูลให้เป็นเกียรติยศ สำหรับคุณความดีที่มีต่อศาสนา

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ช่วยแผนกนวกรรมและธุรการอย่างอื่น ๆ แบ่งเบาภาระของเจ้าอาวาสท่านที่แล้วตามสมควรแก่ความสามารถและหน้าที่ เมื่อมีการสถาปนาท่านเป็นเจ้าอาวาส แม้จะปกครองวัดได้เพียง ๓ เดือนเศษก็ถึงมรณภาพ แต่ชีวิตของท่านเป็นประโยชน์แก่วัดนี้มานาน เพราะเมื่อแรกสถาปนาพระอาราม ท่านเป็นปลัดของเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ซึ่งธรรมดาวัดใหม่จะต้องกังวลด้วยการก่อสร้างซึ่งเป็นภาระหนักหลายอย่าง แต่ท่านได้เป็นกำลังช่วยในกิจการด้านนี้มาตลอด ครั้นถึงวาระที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส แม้จะเป็นเวลาน้อยยิ่งกว่าเจ้าอาวาสรูปใด แต้ก็ควรปลื้มใจมาก ที่วัดได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญโดยลำดับ

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริชมว่าเป็นพระสงฆ์ซึ่งมีปรีชาอุตสาหะเล่าเรียนพระคัมภีร์เป็นอันมากจนสอบไล่ในท่ามกลางที่ประชุมพระราชาคณะถึงที่เปรียญ ๗ ประโยค เป็นบุรุษรัตน์ในราชตระกูล ควรเป็นที่สักการะแห่งสมณะคฤหัสถ์ทั้งปวง

              นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ทรงปกครองวัดได้ทรงอำนวยประโยชน์แก่วัดหลายอย่าง เช่น ทำพื้นวัด ที่รกรุงรังหลายแห่งให้สะอาด ซ่อมเสนานะให้เรียบร้อย เป็นที่ผาสุกแก่ผู้อาศัย การสร้างพระอุโบสถที่ค้างมานาน ก็ทำได้เสร็จเกือบทุกอย่าง ทรงทำนุบำรุงโรงเรียนเทพศิรินทร์ ให้เป็นหลักฐานและก้าวขึ้นสู่ความเจริญรวดเร็ว และเป็นเหตุให้เจ้านายที่เป็นพระญาติมีพระศรัทธาเลื่อมใสเกื้อกูลวัดมาโดยลำดับ

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ เป็นพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก มีความอุตสาหะ วิริยภาพ รับภาระเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณรในวัดเทพศิรินทราวาส มาแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเป็นเจ้าอาวาสท่านเป็นผู้มั่นคงในสมณปฏิบัติ มีศิลาจารวัตรเป็นที่น่าเลื่อมใส มีความรอบรู้ในอรรถธรรม เป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกชน และเป็นผู้ที่ได้กระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการศึกษาให้เจริญเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาชมไว้ว่า เป็นพระภิกษุที่มีความสังเกตและความจดจำลัเอียดนัก ทั้งได้เอาใจใส่ตริตริงในการที่จะทำมาก

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ เมื่่อสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นช่วงที่วัดได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ด้วยการซ่อมแซมส่วนประกอบต่าง ๆ โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทาสีทั้งภายนอกและภายใน เปลี่ยนไม้โครงหลังคาและปรับมุงหลังคาใหม่ ถอดลวดลายประดับเพดานลงมา ซ่อมและทาสีใหม่ตามแบบเดิมและเปลี่ยนพื้นภายในพระอุโบสถเป็นหินอ่อน นอกจากนี้ยังเป็นสมัยที่สร้างเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ เพื่อเป็นที่ฌาปนกิจศพพระสงฆ์มีสมณศักดิ์และบุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ เป็นพระภิกษุซึ่งมีความรู้ทางปริยัติธรรมอย่างเอกอุ สามารถสอบเปรียญธรรม ๓ ถึง ๙ ประโยคได้ติดต่อกันทุกปี เป็นผู้แตกฉานพระไตรปิฎก ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาบาลีสันสกฤต สามารถอ่านและเขียนเทวนาครีและสิงหล นอกจากนั้นยังชำนาญภาษาขอม อังกฤษ และมะติน เป็นผู้เคร่งครัดพระธรรมวินัย สำรวมในศีล และมั่นคงในสมณปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรน่าเลื่อใส จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั้งหลาย เมื่อเป็นเจ้าอาวาส ท่านถือว่าความเจริญรุ่งเรืองของวัดเป็นใหญ่ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรม ให้มีกลับมีสภาพสั่นคงถาวรมา

​         เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ เป็นพระสงฆ์ผู้ส่งเสริมโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการ ริเร่มและดำเนินงานโครงการอบรมวิชาการนวกรรมกับการพัฒนาชุมชน โครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาค ดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ร่วมกับสภากาชาดไทย เป็นต้น ท่านยังเรียบเรียง แปล และจัดพิมพ์หลักสูตรนักธรรมศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัดเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน นับว่าท่านเป็นผ้คงแก่เรียนและฝีมือดี นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้ทำ และแนะนำชักจูงให้ทั้งฝ่าบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ร่วมกันสร้างวัดให้เป็นศูนย์กลางแห่งความฉลาด โดยให้ทำห้องสมุดและมีพิพิธภันฑ์ประจำวัด

bottom of page