top of page

ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถ

งดงามด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบสี

ภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์

ลายรดน้ำบานประตูหน้าต่างด้านนอกพระอุโบสถ

ก่อนได้รับการบูรณะ

     ซุ้มประตูหน้าต่าง ด้านนอกพระอุโบสถ เป็นซุ้มทรงมงกุฏ ประดับกระเบื้องเคลือบ โดยจำลองรูปลักษณ์ของพระมหาพิชัยมงกุฏเป็นยอดซุ้ม ซุ้มรูปแบบนี้ได้รับการรังสรรค์สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ซุ้มประตูหน้าต่าง พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดสุทัศนเทพวราราม หรือซุ้มประตูหน้าต่างพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

    บานประตูหน้าต่าง เขียนลายรดน้ำ เป็นลวดลายใบไม้แบบศิลปะตะวันตกและลายใบเทศ ผูกเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง (แก้ไขลวดลายตามของเดิมที่ปรากฏในภาพถ่ายในหนังสือของ คาร์ล ดอห์ริง)  

     ซุ้มประตูหน้าต่างพระอุโบสถด้านใน วัดได้ดำเนินการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว จึงบูรณะซุ้มประตูหน้าต่างเฉพาะด้านนอก ซึ่งของเดิมเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีและกระเบื้องถ้วยเคลือบสี ด้วยการเสริมความมั่นคงของปูนปั้น จากนั้นจึงขัดล้างทำความสะอาด และยึดแผ่นกระเบื้องให้มั่นคงแข็งแรง ส่วนที่ผุ ชำรุด หลุดหาย หรือเคยซ่อมเปลี่ยนใหม่ ไม่เหมือนของเดิม ได้รื้อออกแล้วจัดหากระเบื้องที่มีรูปแบบ รูปทรง ขนาด สี และชนิดของวัสุตามแบบอย่างของเดิม มาประดับตกแต่งแทนจนสมบูรณ์และกลมกลืนกับของเดิม

    บานประตูหน้าต่าง วัดได้ทำการซ่อมแซมลายลดน้ำ หน้าบาน ลายเขียนสีหลังบานปิดทองกรอบเช็ดหน้า กรอบบานและฝ้าเหนือ ประตูหน้าต่างเรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการเปลี่ยนครกทองเหลืองและอุปกรณ์บานประตูหน้าต่างใหม่ทั้งหมดตามแบบอย่างของเดิม รวมทั้งรื้อเหล็กดัดที่หน้าต่างออกทั้งหมด แล้วติดตั้งบานกันไอเย็น จากเครื่องปรับอากาศกระจายออกภายนอกที่ประตูและหน้าต่างทุกช่อง

ดอกรำเพยที่บานประตูและบานหน้าต่างแต่ละช่อง

บานประตูและบานหน้าต่างภายในพระอุโบสถ

กลับมางดงามเหมือนเมื่อแรกสร้าง

ภายหลังการบูรณปฏิสังขรณ์

ลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกที่ซุ้มประตูหน้าต่างภายในพระอุโบสถประดิษฐ์เป็นรูปจำลองตราไอราพต ประกอบลวดลายเครือดอกไม้และพันธุ์ไม้แบบตะวันตก

ผนังข้างกบ

เขียนเป็นภาพกอบัวและนก

     ซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถ เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจก มีรูปทรงแบบซุ้มทรงมงกุฎ ประดับลวดลายเครือดอกไม้และพันธ์ไม้แบบตะวันตก ส่วนหน้าบันซุ้มเป็นรูปจำลองตราไอราพต คือเป็นรูปพระเกี้ยว ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือช้างสามเศรียร มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง ฉัตร ๗ ชั้นขนาบสองข้าง

    บานประตูและหน้าต่างภายใน เป็นภาพเขียนปิดทองรูปเทวดา บานละ ๑ องค์หันหน้าหากัน มือข้างหนึ่งจีบดอกรำเพย อีกมือถือพระขรรภ์ ยืนบนแท่นฐานสิงห์ที่มีลายผ้าทิพย์ประดับ ส่วนพื้นทาสีแดงชาดและเขียนสีเป็นลวดลายใบไม้ร่วง

    บานประตูหน้าต่าง แต่ละบานเขียนเป็นรูปเดียวกัน ต่างกันที่สีของดอกรำเพย ลวดลายและสีผ้านุ่งของเทวดา และลวดลายผ้าทิพย์

    ผนังข้างกบ ซึ่งเป็นผนังที่อยู่ข้างซอกประตูและหน้าต่าง เขียนภาพกอบัวในบึงน้ำและนก อาจสื่อถึงวัดปทุมวนาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสี

bottom of page