top of page

บัวหัวเสาเก็จ ภายในพระอุโบสถ

บัวหัวเสาและเชิงเสากลม ภายในพระอุโบสถ

     ภายในพระอุโบสถ มีเสาเก็จแบ่งผนังออกเป็นห้อง ๆ เชิงผนังและเชิงเสาเก็จประดับกระเบื้องโมเสกซึ่งมีลวดลายแบบตะวันตก โดยมีลายลูกประคำและลายประแจจีนกั้นระหว่างลายประดับแต่ละแบบ เหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้เลียนแบบกลีบดอกรำเพยประกอบลายก้านแย่งซึ่งประดิษฐ์เป็นลวดลายใบไม้แบบตะวันตก

     เสาเก็จ เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อเก็จจากผนังพระอุโบสถ เชิงเสาประดับกระเบื้องโมเสกส่วนบัวหัวเสาเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก

     นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถยังมีเสาร่วมใน ๒ แถว แถวละ ๖ ต้น มีลักษณะเป็นเสากลม ปลายสอบ ทาสีแดงชาด ไม่ทำลวดลาย บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบขนุนไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่เชิงเสาประดับกระเบื้องโมเสกลวดลายเดียวกับเชิงผนัง และเป็นลวดลายชุดเดียวกับกระเบื้องโมเสกซึ่งประดับที่เชิงผนังภายในพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชทานพระเจ้าบรมมใหยิกาเธอ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ชุกชี ก่อนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์

ชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยฝีมือการรังสรรค์ของช่างหลวงเช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕

     ชุกชี สำหรับประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นชุกชีฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง รองรับพระเบญจาตั้งปราสาทจตุรมุขยอดมณฑป

    พระเบญจานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์และเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยาร่วมมือกันอำนวยการก่อสร้าง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพ็ชรรัตน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระเบญจาชั้นบนและชั้นกลางมาตั้งบนชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธานภายในพระอุโบสถส่วนพระเบญจาเล็กสี่ทิศชั้นล่าง โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปไว้ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 

     ชุกชีและปราสาทจตุรมุขยอดทรงมณฑป เป็นศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ซึ่งช่างฝีมือชาวไทยในอดีตได้บรรจงประดิษฐ์และประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่งดงาม ตั้งแต่ได้รับการรังสรรค์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๓ จนถึงปัจจุบัน ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า ๑๓๐ ปี จึงมีความทรุดโทรม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษััตริย์ ส่วนราชการ และประชาชน จึงร่วมกับวัดเทพศิรินทราวาส ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านงานช่างสิบหมู่ที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ชุกชีและปราสาทจตุรมุขจึงฟื้นคืนสู่ความวิจิตรงดงาม

bottom of page